เส้นฝ้ายโทนสีนุ่มๆ แบบพาสเทลวางโชว์ไว้ในงาน “เมืองแห่งผ้าคราม” ที่จัดขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ 4 – 8 เม.ย. 2561 สีเส้นฝ้ายแต่ละม้วนนุ่มนวล อ่อนโยน เป็นสีที่มีการคุมโทนเป็นอย่างดี สีคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ดึงดูดสายตาให้แวะเช้าไปดูใกล้ๆ และสัมผัสเส้นฝ้ายสีหวานนั้นด้วยตัวเอง
“พี่เพ็ญ” ผู้ริเริ่มแบรนด์ Jutatip (Hand-Woven Cotton Fabric, Natural Dyes) เล่าให้ฟังถึงที่มาของการทำงานแฮนด์เมดที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ อย่างฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีความสุข
“พี่เห็นคนใช้ฝ้ายทำเสื้อ ทำผ้าคลุมไหล่ ทำของเป็นชิ้นๆ เยอะแล้ว พี่คิดว่าน่าจะทำเส้นฝ้ายทอเป็นม้วนๆ ขายเพื่อเป็นวัสดุดีๆ ให้คนซื้อกลับบ้านไปใช้ถักงาน ซื้อเป็นของฝากให้เพื่อนที่ใช้ ซึ่งพี่คิดว่าเราน่าจะขายได้ เพราะสังเกตเห็นว่า คนหาซื้อเส้นฝ้ายทอค่อนข้างหายาก ยิ่งถ้าอยากได้แบบฝ้ายเข็มมือย้อมสีธรรมชาติจริงๆ โดยคุมโทนสีให้เป็นพาสเทลด้วยแล้วน่าจะเป็นที่ต้องการ พี่เลยคิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นได้”
ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ Jutatip ตั้งแต่นั้นมา และกลายเป็นแบรนด์ที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมงานแฮนด์เมดสำคัญๆ ระดับประเทศมาตลอด ทั้ง เมืองแห่งผ้าคราม 4 – 8 เม.ย. 2561, งาน SACICT Crafts Bangkok 2018, งานบ้านและสวน และงาน L I f e + S t y l e ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 19 – 23, เมษายน, 2561 ที่ไบเทค

“Jutatip มีจุดแข็งที่เราควบคุมโทนสีให้มีกลุ่มสีได้เยอะ โดยจะยึดว่าทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติ อย่างชาวบ้านเอากากมะพร้าวมาวางรอทิ้ง เราก็ไปขอมาใช้ทำสีย้อม หรืออย่างต้นยูคาลิปตัสคนมักจะใช้แต่ต้น ใบเผาทิ้ง เราก็เอาใบมาทำสีย้อม หรือเอาใบมะม่วงมาต้มได้สีเหลืองนุ่มๆ เราก็เอามาผสมกับสีจากใบยูคาลิปฯ ได้เป็นสีเขียวโทนทหาร ทุกอย่างมาจากธรรมชาติจริงๆ ซึ่งสีอาจจะสั่งไม่ได้เป๊ะเหมือนกันทุกครั้ง เพราะมันมาจากธรรมชาติ อย่างบางช่วงลูกค้าอยากได้เส้นฝ้ายสีครามเข้ม แต่หน้าร้อน สีครามจะอ่อน เราก็ต้องบอกลูกค้าตามจริง ซึ่งลูกค้าก็ยอมรับได้ เราจะไม่แอบหยดสีสังเคราะห์เพื่อให้ได้สีตามสั่ง เราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า นั่นเป็นสิ่งที่พี่ยึดถือมาตลอด”
พี่เพ็ญเป็นคนริเริ่มทำหม้อครามในขอนแก่นที่เยอะที่สุด โดยทำฝ้ายเข็นมือกับชาวบ้านถึง 6 จังหวัด โดยรวมกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานฝีมือหลากหลาย พูดคุยกับเขาและสนับสนุนให้เขามาถักหมวกเป็นอาชีพเสริม เพราะเมื่ออาชีพเสริมสามารถสร้างรายได้ ชาวบ้านจะทำงานอยู่ที่บ้านเกิดตัวเอง ไม่ต้องไปหางานทำในต่างจังหวัด
“พี่อยากสร้างจิตสำนึกให้คนกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เพราะเราได้อยู่ดูแลคนที่บ้าน แม้ว่าเงินเดือนจะไม่เยอะเท่า แต่บ้านเราก็ไม่ต้องเช่า และค่าครองชีพของเราก็ไม่เยอะเท่ากรุงเทพฯ เราอยู่ในกรอบเงินเดือนที่เรามี มันอยู่ได้ เราไม่ต้องทิ้งบ้านไปทำงานต่างจังหวัด ทิ้งแม่ ทิ้งลูก พี่ได้ข้อคิดนี้มาจากตัวเองตอนโดนเลย์ออฟช่วงฟองสบู่แตก เพราะพอเขาเลิกจ้าง เราก็เหมือนโดนลอยแพ ไม่มีการเยียวยา ไม่มีใครช่วยได้ พี่จึงตัดสินใจมาทำงานนี้ที่ขอนแก่นกับครอบครัว พี่จะพูดคุยกับชาวบ้านในกลุ่มให้พึ่งตัวเองให้มากที่สุด ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด พี่จะไม่ไปกู้เงินมาทำอะไรใหญ่โต แต่พี่จะใช้ ฝ้ายชิ้นเล็กๆ ที่เหลือทิ้งเอามาแทรกตามผ้า ให้ได้ลายใหม่ขึ้นมาอีก พี่มีวิธีสู้แบบนี้ เลยต่อสู้ด้วยตัวเองมาตลอด”
พี่เพ็ญทิ้งท้ายว่า ครูที่สอนเราได้ดีคือชาวบ้าน เพราะเรานำวิธีการทำงานของชาวบ้านตั้งแต่โบราณมาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนเมือง ถ้าเราช่างสังเกต ช่างฟัง เราจะได้ยินในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เวลาทำอะไร ก็จะตอบความต้องการนั้นได้ อย่าหยุดเรียนรู้ พึ่งตัวเองให้มาก พึ่งภาครัฐให้น้อย ทำตัวเองให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับคุณสมบัติของฝ้ายเข็นมือคือ ใส่หน้าร้อนจะระบายอากาศดี ใส่หน้าหนาวก็จะอบอุ่น และถ้าย้อมสีธรรมชาติแท้ สีจะไม่ตก เหมือนถ้าเรารู้จริงและรักในสิ่งที่เราทำ เราจะมีทางไปอย่างไม่แพ้ใคร
ใส่ความเห็น